ตัวอย่าง AI Use Case ทางด้านMachinery
ปัจจุบัน AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักร โดยเทรนด์การใช้ AI ในกระบวนการผลิตนั้นประกอบไปด้วยการทำ Predictive Maintenance กระบวนการ Quality Inspection และ การทำ Simulation และ Optimization
PredictiveMaintenance
โรงงานผลิตจะต้องมีการหยุดดำเนินการ หรือที่เรียกว่า Downtime สำหรับการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ซึ่งอาจเกิดขึ้นตามกำหนดการที่วางเอาไว้ล่วงหน้า หรือ อาจเกิดขึ้นอย่างฉุกเฉินเมื่อเครื่องจักรมีปัญหาและไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ การที่เครื่องจักรต้องหยุดทำงานอย่างฉุกเฉิน หรือ Unplanned Downtime นั้นก่อให้เกิดการหยุดชะงักของกระบวนการผลิตอันนำไปสู่ผลผลิตที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงเพิ่มค่าใช้จ่ายอีกด้วย
เพื่อป้องกัน Unplanned Downtime จึงมีการนำ AI เข้ามาใช้ในการทำ Predictive Maintenance โดยการใช้ Machine Learning มาทำความเข้าใจรูปแบบของเครื่องจักรที่กำลังจะมีปัญหาเพื่อที่จะคาดการณ์ล่วงหน้าหากต้องมีการหยุดการทำงานของเครื่องจักรเพื่อดำเนินการซ่อมบำรุง ด้วยเทคนิคการทำ Predictive Maintenance นี้จะทำให้โรงงานสามารถวางแผนการผลิตและจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลการผลิตสูงสุด
Quality Inspection
ในกระบวนการผลิตโดยปกติแล้วจะต้องมีชิ้นงานที่บกพร่องชำรุด หรือที่เรียกว่า Defect ซึ่งโรงงานจะต้องมีการจัดขั้นตอนการทำ Quality Inspection เพื่อที่จะวัดคุณภาพผลผลิตและทำการคัดแยกชิ้นงานที่ไม่ได้คุณภาพออกมา ซึ่งโดยทั่วไปนั้นการทำ Quality Inspection ในลักษณะนี้จะต้องใช้มนุษย์ในการคัดแยก ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดความผิดพลาด และมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง
นำไปสู่การใช้ AI ในการทำ Quality Inspection ด้วยเทคนิคทาง Computer Vision เพื่อวิเคราะห์ลักษณะของชิ้นงานว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ มีจุดที่บกพร่องที่ต้องคัดแยกชิ้นงานออกไปหรือไม่ ซึ่งด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน AI มีความแม่นยำ และความสม่ำเสมอในการวิเคราะห์ที่สูงกว่ามนุษย์มาก ทำให้โรงงานสามารถควบคุมคุณภาพของผลผลิตให้อยู่ในมาตรฐานการผลิตได้
Simulation and Optimization
ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการผลิต โรงงานจะต้องมีการทำแผนการผลิตล่วงหน้าเพื่อจัดสรรเครื่องจักร วัตถุดิบ เครื่องมือ ไปจนถึงบุคลากรในกระบวนการผลิต เพื่อให้การผลิตสามารถดำเนินการได้อย่างไม่ติดขัด ซึ่ง AI สามารถนำแผนการผลิตนั้นมาใช้ในการจำลองการผลิตได้ว่าในแต่ละช่วงเวลา จะมีการใช้วัตถุดิบ และเครื่องมือไปเท่าไหร่ได้ผลผลิตเท่าไหร่ การจัดสรรบุคลากรเพียงพอหรือไม่ กำหนดการผลิตของเครื่องจักรมีข้อผิดพลาดตรงไหนหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น AI ยังสามารถช่วยในการทำแผนการผลิตอัตโนมัติเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้กับโรงงานได้อีกด้วย เพื่อที่จะได้ผลผลิตสูงที่สุด ภายใต้เงื่อนไขที่ทำให้การดำเนินการผลิตสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีข้อผิดพลาด และยังสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงที เมื่อมีสถานการณ์ที่ทำให้แผนการผลิตจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน