ตัวอย่าง AI Use Case ทางด้านTextile
อุตสาหกรรมสิ่งทอจัดเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างในการผลิตเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร และมีความสำคัญกับประเทศไทยในด้านรายได้ที่ได้จากการส่งออกสิ่งทอสำเร็จรูป ซึ่งมีสัดส่วนของโรงงานสูงถึง 58.2% สิ่งทอสำเร็จรูปถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่จำเป็นต้องใช้ความประณีต ในระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยเราจึงได้เปรียบในเรื่องของแรงงานมีฝีมือและค่าแรงที่มีราคาย่อมเยา แต่ปัจจุบัน การที่ประเทศอื่น เช่น จีน อินเดีย หรือเวียดนาม สามารถผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ประเทศเราสูญเสียความได้เปรียบ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ควบคุมคุณภาพ หรือคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอนาคต และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ตลอดเวลา ซึ่งเราจะพูดถึงตัวอย่างนวัตกรรม AI (Artificial Intelligence) ที่ถูกใช้งานจริงในต่างประเทศ และนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมของไทย
Textile Defect Detection
ในด้านของการควบคุมคุณภาพของสิ่งทอ เช่น การคัดแยกเกรดของเส้นใย การระบุลวดลายและลักษณะของเนื้อผ้า หรือตรวจสอบตำหนิ การใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียวอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดทั้งจากอาการเหนื่อยล้า และมาตรฐานที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล เราสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการใช้ระบบตรวจสอบด้วยกล้องที่มี AI ซึ่งสามารถประมวลผลภาพแบบ Real Time ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Sanlian Hope ผู้ให้บริการเทคโนโลยีเส้นใยสังเคราะห์ของจีน เดิมทีคนงานต้องตรวจสอบเส้นใยด้วยตาเปล่า ซึ่งมองเห็นได้แค่ 100 เมตรสุดท้ายของผ้าแต่ละม้วน ในปี 2561 บริษัทจึงร่วมมือกับ HUAWEI CLOUD นำเทคโนโลยี AI มาใช้ปรับปรุงการตรวจสอบคุณภาพของเส้นใยสังเคราะห์ทั้งผืน หรือบริษัท WiseEye ที่นำหลอด LED และกล้องคุณภาพสูงมาติดตั้งบนสายการผลิตเพื่อแสกนรูปของชิ้นผ้า และเปรียบกับรูปชิ้นผ้าในระบบ หากชิ้นผ้าไม่ได้มาตรฐาน ก็จะแจ้งเตือนทันที โดยทางบริษัทกล่าวว่า จากการทดลองกับสายการผลิตจริงเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าระบบนี้สามารถลดการสูญเสียที่เกิดจากชิ้นผ้าไม่ได้มาตรฐานมากกว่า 90%
ตัวอย่างการใช้ AI ในColor Control
เรื่องสีของผลิตภัณฑ์สิ่งทอก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญ และมีผลกับการตัดสินใจเลือกซื้อของผู้บริโภค ความแตกต่างของเฉดสีเพียงเล็กน้อยอาจเป็นเหตุให้ร้านผู้ผลิตต้องดึงสินค้าทั้งชุดออกจากหน้าร้าน ในอดีตเรามักใช้เครื่องจักรคู่กับคนเพื่อตรวจสอบซ้ำ หากเราสามารถนำ AI ที่สามารถจำแนกและจับคู่สีให้ตรงตามคำอธิบาย และเรียนรู้ค่า Error ที่ผู้บริโภคยังคงรับได้ (Tolerance) โดยอัตโนมัติ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาที่เสียไปจากการใช้ทั้งคนและเครื่องจักร ตัวอย่างของนวัตกรรมนี้ เช่น บริษัท Datacolor ให้บริการแพลตฟอร์มตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสีในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งต้องการความแม่นยำของสีที่สูง เช่น สิ่งทอ เครื่องเขียน หรือผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยงาม ในหลายประเทศทั้ง เยอรมนี อังกฤษ หรือบังกลาเทศ
ตัวอย่างการใช้ AI ในNon-manufacturing
นอกจากตัวอย่างการใช้งานในสายการผลิตข้างต้นแล้ว AI ยังสามารถถูกนำไปใช้ในด้านอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น การนำ AI ไปใช้ในเว็บไซต์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าชมโดยอาจจะเป็น Visual Search ที่ผู้เข้าชมสามารถค้นหาผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันด้วยรูป หรือเทคโนโลยี Virtual Try-on ที่จำลองเสื้อผ้าลงบนตัวคน ด้วยเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) คู่กับ AI ซึ่งนอกจากจะช่วยผู้เข้าชมได้รับประสบการณ์ช็อปปิ้งที่แปลกใหม่
ระบบนี้ยังช่วยผู้บริโภคที่ไม่ต้องการออกไปช็อปปิ้งในช่วงการระบาดของ Covid-19 ให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของร้านได้อีกด้วย หรืออาจจะเป็นการนำ AI มาช่วยคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ด้วยเทคโนโลยี Gans และ Style transfer
Conclusion
ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งถึงแม้ว่าตัวอย่างเหล่านี้ มักมีการใช้งานในบริษัทที่เน้นเทคโนโลยีในประเทศที่พัฒนาแล้ว เราก็สามารถออกแบบ และนำเทคโนโลยีในลักษณะเดียวกันมาปรับใช้งานในประเทศของเราได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และเวลารวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในระดับที่ยอดเยี่ยมกว่าการพึ่งแรงงานคนเพียงอย่างเดียวได้